โรคร้ายประจำหน้าร้อน


P10 โรคร้ายประจำหน้าร้อน

เดือนมีนาคมถือว่าเป็นเดือนที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ หลายคนต่างบอกกล่าวกันเสมอว่า “ร้อนจังไม่อยากออกไปไหนเลยสั่งอะไรเย็นๆ มากินเถอะ” หรือ “ร้อน ร้อนๆๆๆ หาอะไรเย็นๆ กินกันจะได้สดชื่น” เมื่อมีความต้องการหาขนมหรือของว่างเย็นๆ มารับประทานคลายร้อน ก็ควรระมัดระวังอันตรายที่จะเกิดจากอาหารในฤดูร้อน นั้นคือ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค และไข้รากสาดน้อยซึ่งมักจะระบาดในฤดูร้อน ตามสถิติของสำนักงานระบาดวิทยาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 27 พฤศจิกายน 2557 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจำนวน 987,486 ราย พบการเสียชีวิต 9 ราย สถิติ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2547 – 2556 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงสูงในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และสูงมากในเดือนมีนาคม ของทุกปี ช่วงที่พบน้อยที่สุดคือเดือนธันวาคม

สาเหตุหลักของโรคเหล่านี้นั้นก็คืออาหารการกินนั้นเอง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอากาศที่ร้อนเป็นตัวเร่งให้จุลินทรีย์ในอาหารเจริญเติบโต ทำให้อาหารสดเน่าเสียได้ง่าย และปัจจัยข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นการละเลยความสะอาด ไม่รักษาสุขอนามัย และแมลงพาหะนำโรคทางเดินอาหารอย่างแมลงวัน ซึ่งเป็นตัวกระจายเชื้อโรคแบบอิสระ สามารถนำพาเชื้อโรคจากที่หนึ่งไปอีกหนึ่งได้

การป้องกันโรคร้ายประจำหน้าร้อนนั้น เริ่มจากการป้องกันตัวเองก่อน ง่ายๆ คือเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ล้างมือให้สะอาดก่อนการปรุงและรับประทานอาหารทุกครั้ง ทิ้งขยะ สิ่งปฎิกูลต่างๆ ในที่มิดชิด  สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการค้าอาหารสด ควรรักษาความสะอาดของตนเอง และสถานประกอบการอยู่เสมอ ป้องกันแมลงที่เป็นพาหะนำโรคอย่างแมลงวัน แมลงหวี่ และแมลงสาบ โดยใช้วิธีการที่ไม่ทำให้อาหาร และภาชนะใส่อาหารเกิดการปนเปื้อน หากไม่ทราบข้อมูลและวิธีการควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือสำนักงานสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัย และแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โรคระบาดหยุดได้ถ้าช่วยกันป้องกัน

ด้วยความปราถนาดีจาก คิงส์ เซอร์วิส เซ็นเตอร์

ดูเรื่องน่ารู้ทั้งหมด next