กำจัดปลวก

ปลวก เป็นแมลงสังคมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอาคาร และบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก


P1 กำจัดปลวก

ปลวก เป็นแมลงสังคมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอาคาร และบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก โดยจัดอยู่ในอันดับ Isoptera แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ ได้แก่ วรรณะกรรมกร วรรณะทหาร และวรรณะสืบพันธุ์ซึ่งแบ่งออกเป็น ราชาและราชินีปลวก
ปลวกแต่ละวรรณะมีลักษณะลำตัว และบทบาทหน้าที่ภายในรังที่ต่างกัน วรรณะกรรมกร หรือ ปลวกงาน มีลำตัวสีขาว น้ำตาลแดงจนถึงดำ ขึ้นกับชนิดของปลวก ไม่มีตา ใช้หนวดเป็นอวัยวะรับความรู้สึก มีหน้าที่ดูแลรักษาไข่ สร้างรัง ทำความสะอาด และซ่อมแซมรัง รวมทั้งทางเดินไปหาอาหาร และยังหาอาหารเลี้ยงปลวกวรรณะอื่นๆ ซึ่งปลวกบางชนิดทำหน้าที่เพาะเลี้ยงเชื้อราในบริเวใกล้รัง โดยปลวกชนิดนี้คิดเป็น 90 % ของประชากรปลวกภายในรัง วรรณะทหาร หรือปลวกทหาร จะมีกราม 1 คู่ สีเข้ม ที่ยื่นออกไปด้านหน้า บางชนิดกรามจะเปลี่ยนไปเป็นงวงยื่นออกไปด้านหน้า ซึ่งถือว่าเป็นเป็นลักษณะเด่นของปลวกชนิดนี้ หน้าที่ของปลวกทหารคือ การต่อสู้ คอยป้องกันศัตรูไม่ให้เข้ามารบกวนไข่ และปลวกตัวอื่นๆในรัง วรรณะสืบพันธุ์ ทั้งปลวกเพศผู้ที่เป็นราชาปลวก หรือ แมลงเม่า และเพศเมียที่เป็นราชินีปลวก จะมีลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มีปีก 2 คู่ แต่เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย เมื่อจับคู่ผสมพันธุ์เสร็จปีกจะถูกสลัดทิ้งและอยู่อาศัยบริเวณใต้ดิน โดยปลวกเพศเมีย หรือราชินีปลวก มีหน้าทีผสมพันธุ์และวางไข่ ซึ่งราชินีปลวกในช่วงเจริญวัยออกไข่ได้วันละ 30,000 ฟอง นอกจากนี้ราชินีปลวกยังปล่อยฟีโรโมนเพื่อใช้ควบคุมปลวกภายในรัง

 

 

ปลวกมีทั้งสิ้น 3 ระยะ โดยเริ่มตั้งแต่ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย หลังการผสมพันธุ์ 2-3 วัน จะเริ่มมีการวางไข่ หลังจากนั้น 7 วันไข่จึงฟัก และใช้เวลาอีก 25 วัน จึงเข้าสู่ระยะตัวหนอน จากตัวหนอนปลวกจะเริ่มเข้าสู่วรรณะต่างๆในระยะต่อไป ซึ่งแต่ละระยะใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยปลวกงานใช้ระยะเวลา 55 วัน ปลวกทหารใช้ระยะเวลา 80 วัน และใช้เวลา 2 ปี ในการเป็นตัวอ่อนเพื่อพัฒนาเป็นราชาปลวก
การจำแนกปลวกแต่ละชนิดสามารถใช้เกณฑ์จำแนกได้หลายเกณฑ์ โดยแบ่งออกเป็นการจำแนกตามนิเวศวิทยา และสัณฐานวิทยา เนื่องจากลักษณะของปลวก ลักษณะอาหารที่กิน และสภาพนิเวศวิทยาของปลวกแต่ละชนิดแตกต่างกัน ทางนิเวศวิทยาสามารถจัดจำแนกได้ ดังนี้ จำแนกตามที่อยู่อาศัยได้ 2 ประเภท คือ ปลวกที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ ปลวกที่อาศัยอยู่ในดิน จำแนกตามลักษณะการกินอาหารได้ 4 ประเภท คือ ปลวกกินเนื้อไม้ ปลวกกินซากพืช เศษไม้ใบไม้ และเพาะเลี้ยงเชื้อราไว้ภายในรัง ปลวกกินดินและอินทรียวัตถุ ปลวกกินดินและอินทรีย์วัตถุ และปลวกกินไลเคน จำแนกตามชนิดของจุลิทรีย์ในการย่อยอาหารได้ 2 ประเภท คือ ปลวกชั้นต่ำที่อาศัย Protozoa ช่วยผลิตเอนไซม์ และปลวกชั้นสูงที่อาศัย Bacteria ช่วยผลิตเอนไซม์ สำหรับการจำแนกทางสัณฐานวิทยาซึ่งใช้เกณฑ์ในการจำแนกจากส่วนหัวของปลวกวรรณะทหาร ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 วงศ์ แต่ภายในประเทศไทยพบทั้งสิ้น 4 วงศ์

การจัดการปลวก สามารถแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆได้ดังนี้ คือ
1. ขั้นตอนก่อนการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการจัดการในรูปแบบของการป้องกันไม่ให้ปลวกเข้ามาภายในพื้นที่ สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี โดยการเลือกใช้วัสดุก่อนก่อสร้างที่ผ่านการอัดสารเคมีป้องกันปลวก, การใช้แผ่นโลหะ พลาสติก หรือตาข่าย ปูเพื่อป้องกันปลวกใต้ดิน, การใช้กรวดขนาดพิเศษเพื่อป้องปลวกใต้ดิน และวิธีการใช้สารเคมี โดยการฉีดลงพื้นดินก่อนเทคอนกรีต การติดตั้งท่อ PVC หรือท่อ PE ตามแนวคาน ใต้พื้นอาคาร, การใช้สารเคมีสูตรขับไล่ปลวก หรือการอัดสารเคมีเข้าท่อภายใน
2. ขั้นตอนหลังการก่อสร้าง เป็นขั้นตอนในการกำจัดปลวกที่ประกอบไปด้วยหลายวิธีการ แต่ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนต่างๆ ได้จะต้องมีการสำรวจปลวกภายในพื้นที่อย่างละเอียดตามจุดสำรวจ ได้แก่ ปล่องหุ้มท่อน้ำทิ้ง, รอยแตกระหว่างไม้กับปูน, พื้นผิวไม้, ผิวฝ้าเพดาน, และจุดที่มีความชื้นสูง จึงจะเริ่มขั้นตอนในการกำจัดปลวกได้ ซึ่งขั้นตอนในการกำจัดปลวกมีทั้ง เจาะพื้นอัดสารเคมี, และการใช้เหยื่อพิษ ซึ่งแต่ละวิธีต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการทำงานเพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด
แม้ปลวกจะสร้างความเสียหายต่ออาคาร บ้านเรือน และแปลงเกษตรในพื้นที่ต่างๆ แต่ทางนิเวศวิทยาปลวกเป็นแมลงที่สร้างประโยชน์โดยเป็นผู้ย่อยสลายของธรรมชาติ เช่น ท่อนไม้ ใบไม้ แล้วเปลี่ยนแปลงซากพืชและซากสัตว์ให้กลายเป็นอินทรียวัตถุในดิน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดินซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้

ดูเรื่องน่ารู้ทั้งหมด next