ของแถมที่มากับฤดูฝน

ในช่วงฝนตกแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่แถมมาพร้อมกับฝนอีกด้วย มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง


เดือนกรกฏาคมถือได้ว่าเข้าหน้าฝนอย่างเต็มตัว นอกจากจะมีเรื่องของรถติด น้ำท่วมขังที่สร้างความรำคาญใจให้เราเป็นพิเศษในช่วงฝนตกแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่แถมมาพร้อมกับฝนอีกด้วย มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

1. ยุงลาย อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าการที่ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนส่งผลให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยยุงที่พบได้มากในเมืองส่วนใหญ่คือ ยุงลาย ที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น หากต้องการให้ประชากรยุงลายลดลง เราควรช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และในขณะเดียวกันเราก็ควรป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัดอีกด้วยเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไข้เลือดออก

2. โรคไข้ฉี่หนู เรียกได้ว่าเป็นโรคประจำถิ่นของไทย ปัจจุบันพบได้ทั้งในเมืองและชนบท แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคนี้พบได้เฉพาะในทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำขัง แต่ในความเป็นจริงหนูที่อาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงานต่างๆ หรือที่เรียกว่าหนูบ้าน ก็เป็นพาหะนำโรคนี้มาสู่คนได้เช่นกัน โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนู หากติดเชื้อนี้เข้าไปแพทย์อาจคิดไม่ถึงว่าเป็นโรคนี้ เพราะไม่มีประวัติลุยน้ำ แต่เนื่องด้วยหน้าฝนมาเยือนทำให้ความเป็นไปได้การแพร่กระจายของโรคไข้ฉี่หนูมีมากขึ้น

3. แมลงเม่า เป็นแมลงขาประจำช่วงต้นฤดูฝน ที่จะออกมาผสมพันธุ์ตอนหัวค่ำของวันที่ฝนตก และสลัดปีกทิ้งกลายเป็นปลวกจอมทำลายล้างเพื่อมุดลงดินหรือหารอยแตกภายในบ้านเพื่อสร้างรังใหม่ แม้ว่าบ้านของเราจะปิดประตูหน้าต่างมิดชิดก็ตาม แต่แมลงเม่าสามารถบินเข้ามาทางท่อน้ำทิ้งได้ ดังนั้นถ้าพื้นดินใต้บ้านมีเคมีป้องกันกำจัดปลวกอยู่ ก็จะทำให้แมลงเม่าไม่สามารถทำรังได้

4. แมลงวัน สาเหตุที่แมลงวันมีจำนวนมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เป็นเพราะว่ามีแหล่งวางไข่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแมลงวันชอบวางไข่ในที่ที่มีความชื้นสูง กองขยะสิ่งปฏิกูล นอกจากแมลงวันจะสร้างความรำคาญให้เราแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคท้องร่วง และโรคบิด

5. แมลงก้นกระดก (ด้วงก้นกระดก) แมลงชนิดนี้มีการระบาดอย่างมากในช่วงฤดูฝน ชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน ซึ่งแมลงก้นกระดก จะปล่อยสาร เคมีออกมาทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัส โดยเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง หลังการสัมผัสจะเกิดเป็นผื่นแดงชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดนตัวแมลงชนิดนี้อย่างสิ้นเชิง อาจใช้วิธีเป่าให้แมลงหลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัว

ดูเรื่องน่ารู้ทั้งหมด next